(PDF)
ภูมิทัศน์ป่าไม้ไทย (Forest Landscape) คือระบบความสัมพันธ์ของความหลากหลายทางชีวภาพในนิเวศป่าเขตร้อนชื้นและความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่นที่มีนิเวศวัฒนธรรม (cultural ecology) ซึ่งไม่เพียงแต่ธำรงรักษาระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพของไทยให้สูงที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ชุมชนท้องถิ่นยังสรรค์สร้างพันธุกรรรมอาหาร สมุนไพร ระบบการผลิต การจัดการทรัพยากรที่ก่อเกิดคุณค่าทางนิเวศ เศรษฐกิจ สังคมแก่สาธารณะอย่างมากมาย
หัวใจของภูมิทัศน์ป่าไม้ไทยที่สมบูรณ์ยั่งยืนมาช้านานมีรากฐานจากนิเวศวัฒนธรรมของชุมชนต่างๆ ที่ยึดถือธรรมชาติเป็นรากทางวัฒนธรรม ก่อเกิดเป็นวิถีการดำรงชีพชุมชนด้วยระบบเศรษฐกิจยังชีพ และมีระบบสิทธิการจัดการทรัพยากรร่วมของชุมชน แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวถูกทำลายไปอย่างรวดเร็วด้วยนโยบายการแปลงป่าให้เป็นทรัพย์สินของรัฐและเอกชน
กระบวนการแปลงพื้นที่และทรัพยากรป่าให้เป็นทรัพย์สิน สินค้าเพื่อสร้างกำไรมีมานานอย่างต่อเนื่อง ครั้งแรกตั้งแต่การจัดการระบบสัมปทานไม้ของรัฐ เริ่มจากก่อตั้งกรมป่าไม้ พ.ศ.2439 การออก พรบ.ป่าไม้ 2484 และจัดตั้งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ปี 2490 ทำให้พื้นที่ป่าทั่วประเทศซึ่งอุดมด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรมจากวิถีชุมชนที่อยู่อาศัยพึ่งพิงป่าเป็นส่วนใหญ่ ถูกประกาศเป็นทรัพย์สินของรัฐ ป่ากลายเป็นสินค้าไม้เพื่อส่งออก และชุมชนที่อยู่มาก่อนกฎหมายได้กลายเป็นผู้บุกรุกในป่าอย่างผิดกฎหมายนับ 10 ล้านคน
รัฐแปลงป่าเป็นทรัพย์สินครั้งที่สองเกิดขึ้นแต่มีนัยทางผลประโยชน์ที่แตกต่างไป ด้วยการเปลี่ยนจากทำไม้มาเป็นการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ในรูปแบบต่างๆ อันเนื่องมาจากการคัดค้านการทำไม้โดยชุมชนในพื้นที่ป่าอย่างกว้างขวางในทุกภาคทำให้รัฐยกเลิกสัมปทานไม้ในปี 2532 การเร่งประกาศเขตป่าอนุรักษ์ดูเป็นความหวังของนักอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาใหม่ที่ซับซ้อน เพราะเขตป่าอนุรักษ์ถูกควบคุมโดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ กลายเป็นองค์อธิปัตย์ที่ผูกขาดอำนาจเหนือพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างเบ็ดเสร็จ อันก่อให้เกิดผลประโยชน์ใหม่ เช่น เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวที่กลายเป็นปัญหาคอรัปชั่น ผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพในพื้นที่ป่า และอำนาจของกรมอุทยานฯ กำกับโครงการต่างๆ ของรัฐและเอกชนที่จะมาเกี่ยวข้องกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ รวมถึงกุมชะตากรรมของชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์อีก 4,192 ชุมชน
การแยกประเภทสถานะป่าไม้ในฐานะทรัพย์สินปรากฏชัดในนโยบายป่าไม้แห่งชาติ (ฉบับแรก ปี 2528 และฉบับล่าสุดปี 2562) กำหนดเป้าหมายให้มีพื้นที่ป่าทั่วประเทศร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ (ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าร้อยละ 31.64) โดยแบ่งเป็นป่าอนุรักษ์ ซึ่งเป็นป่ารัฐดูแลอย่างเบ็ดเสร็จ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 (ปัจจุบันมีป่าอนุรักษ์ร้อยละ 22.6) และป่าเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นทั้งป่าชุมชน ป่าปลูกเอกชน ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 (ปัจจุบันมีป่าเศรษฐกิจร้อยละ 9) โดยในป่าเศรษฐกิจจากเดิมที่การให้สัมปทานไม้ ก็เปลี่ยนเป็นการให้เอกชนใช้ประโยชน์ เช่น การท่องเที่ยว ปลูกป่าเพื่อเป็นกิจกรรมสังคม (CSR)
จนเมื่อสถานะของป่าไม้ในระดับโลกได้กลายเป็นทรัพย์สินรูปแบบใหม่ในบริบทปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เริ่มจากการพัฒนาจากแนวคิดการชดเชยคาร์บอน (Carbon offset) ด้วยการเอาธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ มาเป็นเครื่องมือแก้ปัญหา (Natural Based Solution) ดูดก๊าซคาร์บอน เป็นตัวช่วยให้แก่อุตสาหกรรมใหญ่ๆ เช่น พลังงาน การเกษตร ที่ไม่ต้องการลดก๊าซเรือนกระจกกระบวนการผลิตของตนเองอย่างเต็มที่ แต่สามารถใช้การลงทุนปลูกป่าซึ่งมีต้นทุนต่ำมาทำหน้าที่ดูดคาร์บอนแทน และได้พัฒนามาเป็นการค้าขายสิทธิในการปล่อยคาร์บอน หรือ “คาร์บอนเครดิต”
คาร์บอนเครดิตก็ได้กลายเป็นทรัพย์สินประเภทหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นในระบบตลาดคาร์บอน และได้เปลี่ยนเป้าหมายจากเดิมที่ต้องการดึงประเทศพัฒนาแล้วและภาคเอกชนมาสนับสนุน สร้างแรงจูงใจให้ผู้สร้างมลภาวะได้ลดหรือเลิกกิจกรรมที่ทำให้เกิดโลกร้อน แต่ได้กลายเป็นผลประโยชน์แบบใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรับผิดชอบต่อธรรมชาติและสังคม คาร์บอนเครดิตได้กลายเป็น “เงินตรา” แบบใหม่ การเพิ่มพื้นที่ป่าของรัฐ การปลูกป่าของเอกชนไม่ได้เป็นแค่ CSR แต่เป็นการลงทุนเพื่อให้ได้กำไรจากคาร์บอนเครดิต และช่วยค้ำยันให้อุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนยังดำเนินและเติบโตต่อไปได้ ด้วยการอ้างบรรลุเป้าหมาย “คาร์บอนเป็นกลาง” (หักลบระหว่างการปล่อยคาร์บอนกับการลดหรือดูดคาร์บอน)
รัฐไทยได้รับเอาแนวคิดตลาดคาร์บอน และคาร์บอนเครดิตมาเป็นแนวนโยบาย เริ่มจากการจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ในปี 2550 เพื่อพัฒนาตลาดคาร์บอน (ไม่เกี่ยวกับอุดมการณ์การปกป้องโลก รักษาธรรมชาติ แต่เป็นการจัดการธุรกิจคาร์บอน) และเริ่มกลไกซื้อขายคาร์บอนเครดิตด้วย โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER)
ตามมาด้วยการพัฒนาโครงการจัดการป่าเพื่อคาร์บอนเครดิตที่เริ่มปรากฏชัดเจนเมื่อตัวแทนรัฐไทยได้ร่วมสนับสนุนโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเนื่องจากการทําลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า (Reducing Emission from Deforestation and Forest Degradation: REDD และ REDD+) ในการประชุม COP17 ในปี 2554 และได้เริ่มพัฒนาโครงการ REDD โดยการร่วมมือระหว่างธนาคารโลกกับหน่วยงานป่าไม้ของรัฐ แต่การริเริ่มโครงการ REDD+ ก็ถูกวิพากษ์จากภาคประชาสังคมในด้านป่าไม้ที่มองว่าจะกระทบต่อสิทธิการจัดการทรัพยากรของชุมชนในพื้นที่ป่า ทำให้โครงการ REDD ก็ยังไม่คืบหน้ามากนัก แต่กระนั้นโครงการ REDD+ ก็ยังเดินหน้าโดยความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานฯ กับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และธนาคารโลก จัดรับฟังความคิดเห็นเพื่อผลักดันต่อ
อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจจัดการป่าเพื่อคาร์บอนเครดิตต้องการขยายตัวรวดเร็ว โดยไม่ได้รอโครงการ REDD เมื่อรัฐบาลไทยได้จัดทำแผนการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจก (nationally determined contributions: NDC) โดยต้องการเพิ่มศักยภาพการดูดก๊าซคาร์บอนของป่าไม้จากเดิมที่ดูดได้ 90 ล้านตันคาร์บอนให้เพิ่มเป็น 120 ล้านตันคาร์บอนภายในปี 2580 เพื่อรองรับก๊าซคาร์บอนฯ ที่ปลดปล่อยจากภาคพลังงาน อุตสาหกรรม และการเกษตร ป่าไม้จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้บัญชีก๊าซเรือนกระจกของไทยสู่ความสมดุลบรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นกลาง (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิ (Net ZERO) ในปี 2065 เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลไทยประกาศจะเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ถึงร้อยละ 50 ซึ่งต้องเพิ่มพื้นที่ป่าธรรมชาติอีก 11.29 ล้านไร่ และป่าเศรษฐกิจอีก 15.99 ล้านไร่ ในปี 2580
ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานด้านป่าไม้ของรัฐ ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรชายฝั่ง และกรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงได้รับออกระเบียบเรื่องปลูกป่าและแบ่งปันผลประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต โดยกรมป่าไม้ดำเนินการทั้งในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อีก 4.5 ล้านไร่ โดยส่วนหนึ่งมีป่าชุมชนที่ขึ้นทะเบียนกว่า 11,000 แห่ง ที่ต้องเพิ่มพื้นที่ป่าอีก 3 แสนไร่ ส่วนกรมทรัพยากรชายฝั่งก็เร่งดำเนินการปลูกป่าชายเลน 3 ล้านไร่ รวมทั้งกรมอุทยานฯ ที่ต้องเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์อีก 1.28 ล้านไร่ โดยทั้งหมดนี้กำหนดให้เอกชนได้คาร์บอนเครดิตร้อยละ 90 ภาครัฐได้ร้อยละ 10 ส่วนชุมชนได้ค่าจ้างปลูกและดูแลป่า
รัฐยังได้จัดทำโมเดลแผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเวียนและสีเขียว (BCG Model) โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อดูดซับคาร์บอน 32 ล้านไร่ โดยให้ภาคเอกชนรายใหญ่เข้ามาลงทุนปลูกป่า ซึ่งก็ปรากฏภาคเอกชนที่ร่วมพัฒนาและขับเคลื่อนโมเดล BCG ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าล้วนเป็นกลุ่มทุนใหญ่ที่สร้างผลกระทบต่อโลกร้อนต่างประกาศจะลงทุนปลูกป่าเพื่อลดคาร์บอน นอกจากนี้รัฐบาลยังมีมติคณะมนตรีเมื่อ 5 ตุลาคม 2565 เปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนปลูกสวนป่าเพื่อคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ของรัฐได้
ทำให้ภาคเอกชนที่ต้องการคาร์บอนเครดิตเพื่อลดแรงกดดันในการลดก๊าซเรือนกระจกของตนเอง และสร้างโอกาสทางธุรกิจในการค้าระหว่างประเทศที่เริ่มใช้มาตรการตรวจสอบการปล่อยคาร์บอนในสินค้าและบริการต่างๆ (carbon footprint) รวมถึงผลประโยชน์จากการค้าขายคาร์บอนเครดิตในอนาคต ภาคเอกชนต่างหันมาสนใจปลูกป่าอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมีที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงถึงร้อยละ 70 ของกิจกรรมการปล่อยทั้งหมด ดังเช่น ปตท.ประกาศลงทุนปลูกป่า 2.1 ล้านไร่ เช่นเดียวกับบริษัทน้ำมัน บริษัทปูนซีเมนต์ และอื่นๆ ที่สนใจลงทุนปลูกป่าเพื่อคาร์บอนเครดิต
มีการขับเคลื่อนจากองค์กรสังคมโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงก็ทำโครงการร่วมกับคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (กลต.) ดำเนินโครงการส่งเสริมชุมชนจัดการป่าชุมชนในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ 33 ชุมชนเพื่อขายคาร์บอนเครดิต และกำลังขยายออกไปในพื้นที่ป่าชุมชนอีกมาก
การแปลงป่าไม้เป็นทรัพย์สินในครั้งที่สามจึงเกิดจากการขยายตัวคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้เต็มไปด้วยความหวังในแง่ดีว่า โดยภาครัฐมุ่งหวังการเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นกลางโดยให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุน ขณะที่ภาคเอกชนก็มุ่งหวังการบรรลุเป้าคาร์บอนเป็นกลางของตน และการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสรักษาต่อยอดทางธุรกิจของตนและธุรกิจใหม่ด้านคาร์บอนเครดิต ส่วนภาคสังคมที่จะไปส่งเสริมป่าชุมชนก็หวังว่า ชุมชนจะได้รับประโยชน์จากการที่ทุ่มเทดูแลรักษาป่าจากการขายคาร์บอนเครดิต โดยทั้งหมดเชื่อว่าจะช่วยลดก๊าซคาร์บอนฯ อันเป็นสาเหตุโลกร้อนได้จริง
แต่ทั้งหมดล้วนลืมเลือนหรือเพิกเฉยต่อปัญหาเชิงโครงสร้างความไม่เป็นธรรม และความไม่ยั่งยืนของการจัดการป่าที่ผ่านมา และดูเหมือนว่าการแปลงป่าเป็นทรัพย์สินครั้งนี้จะยิ่งสร้างปัญหาการทำลายระบบนิเวศ การละเมิดสิทธิชุมชนในพื้นที่ป่า และสร้างความขัดแย้งการจัดการป่าระหว่างรัฐ เอกชน และชุมชนมากยิ่งขึ้น
เพราะในจุดเริ่มต้นที่รัฐต้องการผืนป่าจำนวนมหาศาลเพื่อมาแบกรับการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ของภาคพลังงานและอุตสาหกรรม รัฐบาลตั้งแต่ยุค คสช. (2557) ได้เริ่มนโยบายทวงคืนผืนป่า รัฐอ้างว่าทวงคืนผืนป่าได้ 435,731 ไร่ แต่ก็ทำให้ชุมชนท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่ป่าโดยเฉพาะป่าอนุรักษ์ที่รัฐประกาศเขตทับพวกเขา ถูกรัฐถูกยึดพื้นที่ทำกิน และถูกดำเนินคดี 46,600 คดี พร้อมกันนี้รัฐก็เตรียมที่จะประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเพิ่มขึ้นอีก 20 แห่ง โดยขณะนี้ประกาศไปได้ 7 แห่ง โดยทุกๆ แห่งล้วนเจอปัญหามีชุมชนท้องถิ่นอยู่อาศัยใช้ประโยชน์
แม้ว่ารัฐบาลจะอ้างว่าได้มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิชุมชนในพื้นที่ป่า เช่น พรบ.ป่าชุมชน 2562 เพื่อส่งเสริมชุมชนจัดการป่าในพื้นที่ป่าสงวนนอกเขตป่าอนุรักษ์ และ พรบ.อุทยานแห่งชาติ (ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ) และพรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า) ที่ออกมาในปีเดียวกัน แต่กฎหมายทั้งหมดนี้ไม่ได้มีเป้าหมายการคุ้มครองสิทธิชุมชน แต่เป็นการที่รัฐจำกัดขอบเขตการอยู่อาศัย ใช้ประโยชน์จากป่าตามที่รัฐอนุญาต โดยไม่ยอมรับว่าชุมชนเหล่านี้มีสิทธิจากการดำรงอยู่มาก่อนเขตป่าตามกฏหมาย รูปธรรมเห็นได้จากการกำหนดขอบเขตพื้นที่ป่าชุมชนให้เล็กลงกว่าที่ชุมชนจัดการจริง การจำกัดประเภทการใช้ประโยชน์ การลดพื้นที่ป่าของชุมชนเพื่อให้รัฐได้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น
โดยในระยะเริ่มต้นนโยบายทวงคืนผืนป่า รัฐอ้างปกป้องพื้นที่ป่า แต่เมื่อพิจารณาช่วงเวลากับที่รัฐได้จัดทำแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของรัฐบาลก็จะพบว่า เป้าหมายใหญ่ของการทวงคืนผืนป่าเพื่อจะได้พื้นที่ป่าให้ได้มากที่สุดมาดูดซับคาร์บอนให้บรรลุคาร์บอนเป็นกลาง โดยให้ภาคเอกชนโดยเฉพาะกลุ่มทุนพลังงาน อุตสาหกรรมรายใหญ่ได้เข้ามาลงทุนปลูกป่าตามเป้าหมายผลประโยชน์ของตน
ปมปัญหาที่ซ่อนอยู่ในมายาภาพป่าไม้คาร์บอนเครดิตมีหลายเรื่อง ดังนี้
พื้นที่ป่าไม้ไม่เพียงพอในการดูดซับคาร์บอน หากภาคอุตสาหกรรมพลังงานและอื่นๆ ไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสายการผลิตของตัวเองอย่างเร่งด่วน โดยหากยึดตามข้อเสนอของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ที่เน้นย้ำให้ลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 45 (นับจากปี 2010) ภายในปี 2030 การจะเอาภาคป่าไม้มาแบกรับดูดซับคาร์บอนจากภาคพลังงานไม่สามารถทำได้จริง เพราะเพิ่มพื้นที่ป่าเท่าไรก็จะเต็มเพดานที่ดูดซับได้ 120 ล้านตันคาร์บอน จากการปล่อยคาร์บอนทั้งหมด 345 ล้านตันคาร์บอน
ไม่มีพื้นที่ป่าไม้ที่ว่างเปล่าสำหรับการปลูกป่า แต่ทุกพื้นที่ป่ามีชุมชนท้องถิ่นอยู่อาศัยและดูแลจัดการป่าในรูปแบบต่างๆ อยู่แล้ว ดังนั้นการเพิ่มพื้นที่ให้เอกชนมาปลูกป่า ก็คือการไปยึดเอาพื้นที่ป่าที่ชุมชนดูแลอยู่ ทั้งป่าชุมชน 15,000 แห่ง ป่าชายเลนที่ชุมชนจัดการอีกนับล้านไร่ และป่าที่ชุมชนดูแลในเขตป่าอนุรักษ์อีกจำนวนมาก เพื่อมาทำการปลูกป่าเพื่อคาร์บอนเครดิต การปลูกป่าคาร์บอนเครดิตโดยไม่คำนึงถึงการดำรงชีพของชุมชนในป่าจึงเป็นการละเมิดสิทธิ แย่งยึดที่ป่าไปจากชุมชนโดยตรง อีกทั้งยังเกิดปัญหาการอ้างสิทธิในคาร์บอนเครดิตเกินจริง เพราะกระบวนการนับคาร์บอนเครดิตที่ T-VER มีทั้งป่าที่ปลูกใหม่ และการฟื้นฟูดูแลป่าเดิม ปัญหาอยู่การอ้างสิทธิต่อป่าเดิมที่มีอยู่นั้นขัดกับหลักเหตุผลการเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อดูดคาร์บอน เพราะป่าเดิมทำหน้าที่นั้นและถูกนับการดูดคาร์บอนอยู่แล้ว หากเกณฑ์ไม่ชัดเจนจะกลายเป็นเพียงการปั่นตัวเลขมากกว่าคำนึงถึงผลลัพธ์การลดก๊าซเรือนกระจกที่แท้จริง
ความไม่แน่นอนของป่าในการดูดซับคาร์บอน เพราะป่าไม้ไม่ใช่เครื่องจักรดูดอากาศที่จะมีกำลังการดูดที่แน่นอนต่อเนื่อง แต่มีวัฏจักรการดูดและปล่อยคาร์บอนในแต่ละสภาวะนิเวศที่เปลี่ยนแปลง และด้วยความเปราะบางของระบบนิเวศป่าจากปัญหาระบบจัดการของรัฐที่ล้มเหลว ทำให้พื้นที่ป่าที่เข้าโครงการคาร์บอนเครดิตอาจจะถูกผลกระทบจากภัยธรรมชาติ เช่น ไฟป่า และอื่นๆ ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากปัญหาโลกร้อนเอง ดังเช่นที่ไฟป่าที่แคลิฟอร์เนียที่ทำลายป่าในโครงการคาร์บอนเครดิต ทำให้เกิดปัญหาว่า โครงการปลูกป่าเหล่านี้จะรับประกันการดูดซับคาร์บอนได้แน่นอนต่อเนื่องเพียงไหน แต่ตรงข้ามกับการอ้างสิทธิคาร์บอนเครดิตที่วัดได้ในช่วงเวลาหนึ่งได้ถูกนำไปซื้อขายหรือเข้าบัญชีคาร์บอนเป็นกลางไปแล้ว
ซ้อนสิทธิทรัพยากรสาธารณะด้วยสิทธิปัจเจกของกลุ่มทุน เพราะเอกชนที่มาลงทุนนั้นใช้พื้นที่ป่าของสาธารณะที่รัฐหรือชุมชนจัดการ หากคิดในกรอบเดิมคือ CSR ก็จะเข้าใจได้ว่าเป็นการช่วยเหลือสาธารณะ แต่เมื่อคิดในกรอบการลงทุนเพื่อคาร์บอนเครดิต จะทำให้ผืนป่าสาธารณะของรัฐและเอกชนมีสิทธิในทรัพย์สินของกลุ่มทุนซ้อนเข้ามาอีกชั้น อันก่อให้สภาวะยุ่งเหยิง และไม่เป็นธรรมขึ้น เพราะทรัพยากรสาธารณะดังกล่าวรัฐหรือชุมชนทำหน้าที่ดูแลเป็นทุนเดิมอยู่ แต่เมื่อเอกชนมาลงทุน เอกชนได้กำไรจากคาร์บอนเครดิตกลับไป โดยที่รัฐหรือชุมชนมีภาระต้องดูแลป่าในโครงการคาร์บอนเครดิตต่อไป โดยชุมชนเองกลายเป็นเพียงแรงงานรับจ้างปลูกป่าและได้ปันส่วนแบ่งคาร์บอนเครดิต
ปมปัญหายิ่งชัดมากขึ้นเมื่อพบว่า ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการรับเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ราชการ พ.ศ.2526 ที่กำหนดให้การรับบริจาคที่มีเงื่อนไขเป็นการผูกพันจะต้องไม่ให้ประโยชน์ต่อผู้ใดโดยเฉพาะ ขัดกับระเบียบหน่วยงานป่าไม้ทั้ง 3 กรม ที่เปิดให้เอกชนบริจาคปลูกป่าเพื่อแลกกับประโยชน์ตอบแทนคือคาร์บอนเครดิตในฐานะทรัพย์สินสู่เอกชนเป็นการเฉพาะ หรือเป็นการลงทุนในทรัพยากรสาธารณะเพื่อให้ได้ประโยชน์ส่วนปัจเจก
และในภาพรวม เมื่อรัฐหรือชุมชนขายคาร์บอนเครดิตซึ่งควรเป็นสิทธิสาธารณะหรือสิทธิชุมชนให้กับเอกชน รัฐหรือชุมชนไม่สามารถหรือไม่ควรนับรวมเครดิตที่ขายไปแล้วเป็นเครดิตของตนได้ รัฐไม่สามารถเครดิตนั้นในเป้าหมายลดก๊าซคาร์บอนของประเทศได้ เพราะคาร์บอนเครดิตได้ขายเป็นของเอกชนและสามารถขายต่อกับต่างประเทศได้อีก
หลักการกับหลักนิเวศเขตร้อนชื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงและเป็นฐานพันธุกรรมเพื่อความมั่นคงอาหาร จากภูมิปัญญาท้องถิ่นและองค์ความรู้นิเวศวิทยา ป่าเหล่านี้สามารถฟื้นตัวเองได้ในสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย การปลูกป่าที่เน้นเป้าหมายเดี่ยว เช่น ปลูกไม้บางชนิดหรือป่าเชิงเดี่ยวเพื่อดูดซับคาร์บอน โดยไม่เข้าใจความซับซ้อนของหน้าที่ของระบบนิเวศ จะเสี่ยงต่อการทำลายระบบนิเวศ และท้ายที่สุดจะทำลายศักยภาพของป่าในการดูดซับคาร์บอน และยังทำลายความมั่นคงอาหารตามธรรมชาติอันเป็นที่พึ่งพาของชุมชน
อะไรคือเป้าหมายปลายทางของคาร์บอนเครดิต การปลุกกระแสคาร์บอนเครดิตในภาคป่าไม้ ทำให้สังคมเข้าใจไปว่า เป็นการได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย รัฐหรือชุมชนที่ดูแลจัดการป่าอยู่แล้วจะได้ผลประโยชน์จากการที่กลุ่มทุนเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะชุมชนที่ถูกรัฐและสังคมทอดทิ้งมานานจะได้รับการสนับสนุนจากภาคทุนให้มีความเข้มแข็งจัดการป่า (ราวกับว่าถ้าไม่มีภาคทุนมาสนับสนุนแล้ว ชุมชนจะไม่สามารถจัดการป่าให้ยั่งยืนเองได้) ขณะที่ภาคทุนที่มีข้อจำกัดในการปรับตัวลดก๊าซคาร์บอนก็จะคาร์บอนเครดิตจากชุมชนเป็นตัวช่วย แต่ถ้าวิเคราะห์ลึกลงไปจะพบว่า คาร์บอนเครดิตคือ การซื้อขายสิทธิในการปล่อยคาร์บอน เมื่อชุมชน ประชาชน สังคมขายสิทธินั้นให้กับกลุ่มทุน ก็ได้ทำภาคทุนมีสิทธิในการปล่อยคาร์บอนได้มากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องลดการปล่อยคาร์บอนจากการผลิตของตนเองเท่าที่ควร เพราะสัดส่วนการลดนั้นได้ถูกแชร์ด้วยคาร์บอนเครดิต นั่นเท่ากับรัฐ สังคม และชุมชนกำลังส่งเสริมให้ผู้ก่อมลภาวะโลกร้อนยังดำเนินต่อไปได้ด้วยการขายสิทธินั้นให้ และรัฐ สังคม ชุมชนเป็นผู้รับจ้างจัดการดูดก๊าซคาร์บอนให้ด้วยการปลูกป่า
แม้จะมีปมปัญหาความย้อนแย้ง ไม่สมเหตุผล คาดหวังในการช่วยโลกร้อนไม่ได้ แต่การเติบโตธุรกิจป่าคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยก็กำลังเติบโตต่อไป ด้วยความต้องการตัวเลขคาร์บอนเป็นกลางของกลุ่มทุนอย่างไม่มีขีดจำกัด ราวกับประเทศมีพื้นที่ป่าอีกมากมายไม่หมดสิ้น การแย่งยึดที่ดินทำกิน ที่ป่าของชุมชนก็จะรุนแรงยิ่งขึ้น ท่ามกลางการเติบโตของธุรกิจกลุ่มทุนพลังงานฟอสซิล อุตสาหกรรม เกษตรและอาหารที่เติบโตต่อไป สร้างภาระโลกร้อนยิ่งขึ้น และรอดพ้นจากแรงกดดันจากรัฐและสังคมเพราะสามารถอ้างตัวเลขคาร์บอนเป็นกลางจากการชดเชยด้วยคาร์บอนเครดิต
จนถึงวันหนึ่งที่สังคมเผชิญวิกฤติผลกระทบโลกร้อนอย่างรุนแรง ระบบนิเวศป่าไม้เสียหาย ความมั่นคงอาหารของชุมชนถูกทำลาย ความยากจน การอพยพย้ายถิ่นเกิดขึ้นอย่างคาดเดาไม่ได้ เราจึงจะพบอย่างสายเกินการณ์ไปแล้วว่า คาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ ไม่ได้ช่วยอะไรในการลดโลกร้อนเลย