“นโยบายสภาพภูมิอากาศ” ของประเทศไทยที่อยู่บนฐานของการชดเชยคาร์บอน มีแต่จะเพิ่มความปั่นป่วนและความอยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศ

Image
B272Thailand
"แลนด์บริดจ์ = อุตสาหกรรม เคราะห์กรรมของชาวใต้" ชาวบ้านชุมพร-ระนอง คัดค้านระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาตใต้ (SEC) เพื่อปกป้องพื้นที่ชุมชน พื้นที่อาหาร และฐานทรัพยากรธรรมชาติ Photo: Bandita Yangdee

การซื้อคาร์บอนเครดิตจากป่าไม้หรือโครงการปลูกต้นไม้ภายใต้กลไก REDD (การลดการปล่อยมลพิษจากการตัดไม้ทําลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าไม้) กลายเป็นที่นิยมอย่างมากทั่วโลก  กลไกนี้ได้ทําให้บริษัทและรัฐบาลหลายแห่งสามารถอ้างได้ว่าตนมีความ “เป็นกลางทางคาร์บอน” แม้ความจริงจะปรากฎว่ากลไกดังกล่าวล้มเหลวก็ตาม  กลยุทธ์นี้ล้มเหลวเพราะว่าคาร์บอนที่ 'เก็บไว้' ในต้นไม้เมื่อปล่อยออกมาแล้วจะมีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศแตกต่างจากคาร์บอนที่ปล่อยออกมาจาก 'คลัง' ใต้ดินของน้ำมันก๊าซหรือถ่านหิน (1)  ดังนั้น หลังจากดำเนินโครงการ REDD ทั่วโลกมากว่า 18 ปี วิกฤตสภาพภูมิอากาศจึงมีแต่จะเลวร้ายลง  ในขณะเดียวกัน วิธีเดียวที่จะผันกลับทิศทางของความปั่นป่วนของสภาพภูมิอากาศได้ คือการยุติการสะกัดเชื้อเพลิงฟอสซิล

นับตั้งแต่การประชุมสุดยอดโลกที่ริโอในปี คศ.1992 ซึ่งเป็นการประชุมที่ยกประเด็นสภาพภูมิอากาศขึ้นเป็นวาระระหว่างประเทศ รัฐบาลไทยได้เริ่มกําหนดและดําเนินการตาม “นโยบายสภาพภูมิอากาศ” ของประเทศ โดยมีความกระตือรือร้นเป็นพิเศษที่จะใช้ “การชดเชยคาร์บอน” เป็นฐาน  ทางเลือกนี้ดึงดูดความสนใจของอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษทั้งหลาย เพราะราคาถูกกว่าการลดการปล่อยก๊าซจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล  การชดเชยคาร์บอนเปิดทางให้บริษัทสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการที่ตั้งอยู่ที่อื่นได้  กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มันเปิดทางให้พวกเขา “ซื้อ” สิทธิที่จะก่อมลพิษต่อไป

หลังจากมีการเปิดตัวกลไกนี้ในปี 2550 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไทยก็จัดตั้งองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ขึ้นมาทำหน้าที่ส่งเสริมการชดเชยคาร์บอนและการค้าคาร์บอน  ในปี 2552 ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของกองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ (FCPF) ของธนาคารโลกเพื่อ “เตรียมพร้อม” สําหรับ REDD  ในปี 2557 รัฐบาลได้จัดตั้งโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ขึ้นในความควบคุมของ อบก.  หลังจากให้สัตยาบันข้อตกลงปารีส (พ.ศ. 2559) ประเทศไทยได้กําหนดเป้าหมายการมีส่วนร่วมของประเทศ (NDC) ในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยระบุว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงร้อยละ 40 ภายในปี 2573 จะมี “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ภายในปี 2593 และจะกลายเป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก “สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)” ภายในปี 2608

การสนับสนุนของธนาคารโลกผ่านกองทุน FCPF เป็นกุญแจสําคัญสําหรับรัฐบาลไทยในการกําหนดยุทธศาสตร์ REDD สําหรับช่วงปี 2566-2580  ในปี 2564 รัฐบาลได้นําเสนอยุทธศาสตร์นี้เพื่อขออนุมัติจากรัฐสภา โดยมีเป้าหมายที่จะขยายพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยป่าไม้ในประเทศจากร้อยละ 31 ของพื้นที่ประเทศในปัจจุบันเป็นร้อยละ 40 ภายในปี 2580 ซึ่งรัฐบาลอ้างว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 120 ล้านตัน  ขณะที่ข้อเสนอนี้ยังคงรอการอนุมัติจากรัฐสภา และรอคอยเงินทุนก้อนใหญ่ที่คาดว่าจะมาจากทั้งธนาคารโลกและผู้บริจาคอื่นๆ หลังจากการอนุมัติดังกล่าว รัฐบาลไทยก็ประกาศแผนการที่ทะเยอทะยานยิ่งกว่าเดิมสำหรับการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมุ่งหมายที่จะใช้ “พื้นที่สีเขียว” เป็นแหล่งชดเชย และตั้งเป้าว่าพื้นที่เหล่านี้รวมแล้วจะครอบคลุมถึงร้อยละ 55 (มากกว่าครึ่งหนึ่ง!) ของพื้นที่ประเทศ

การสร้าง “พื้นที่สีเขียว” แทนที่จะเป็น “พื้นที่ป่า” จะสร้างแรงจูงใจให้บริษัทเอกชนลงทุนมิใช่เฉพาะในโครงการปลูกป่า แต่รวมถึงโครงการสวนปาล์มน้ำมันและสวนต้นไม้เชิงเดี่ยวต่างๆ เช่น ยูคาลิปตัส อะคาเซีย ยางพารา หรือสัก  บริษัทเหล่านี้จะได้รับคาร์บอนเครดิตจากโครงการเหล่านี้ ซึ่งกล่าวอ้างได้ว่าเป็นสิ่งที่ชดเชยการปล่อยมลพิษของตน  ในทศวรรษที่ผ่านมา การขยายตัวของการปลูกปาล์มน้ำมันเชิงอุตสาหกรรมเป็นสาเหตุโดยตรงที่ใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของการตัดไม้ทําลายป่าในเขตร้อนทั่วโลก และดังนั้นจึงเป็นแหล่งใหญ่ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันประมาณ 1 ล้านเฮกตาร์ และมีแผนจะขยายพื้นที่นี้ต่อไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า (2)  โครงการปลูกสวนต้นไม้เชิงเดี่ยวขนาดใหญ่เชิงอุตสาหกรรมทุกประเภทมีผลกระทบมากมาย รวมถึงการแย่งยึดที่ดินจํานวนมาก ผลกระทบต่อระบบนิเวศ การใช้ความรุนแรง และการบังคับขับไล่ผู้คนออกจากพื้นที่

แผนการที่จะนํา “พื้นที่สีเขียว” มาใช้และนําพื้นที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศมาอยู่ภายใต้โครงการชดเชยคาร์บอนนี้ อยู่ภายใต้การประสานงานของโครงการ T-VER  แผนนี้คาดหมายว่าจะมีพื้นที่ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลถึง 30 ล้านไร่ (4.8 ล้านเฮกตาร์)  ณ เดือนกันยายน 2567 มีโครงการจดทะเบียนแล้ว 460 โครงการภายใต้แผนนี้ ในจำนวนนี้ 87 โครงการเกี่ยวข้องกับการปลูกสวนต้นไม้ขนาดใหญ่  มีการกล่าวอ้างว่ารวมแล้วจะป้องกันการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 13 ล้านตัน

นโยบายเศรษฐกิจของไทยจะคงการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไปไม่สิ้นสุด

บทบาทศูนย์กลางของการชดเชยคาร์บอนใน “นโยบายสภาพภูมิอากาศ” ของประเทศไทยนี้ จะสามารถเข้าใจได้ดีขึ้นเมื่อพิจารณาดูแผนพัฒนาเศรษฐกิจและตารางการจัดการพลังงานของประเทศไทย ปัจจุบันร้อยละ 70 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ร่างแผนพัฒนาพลังงานของรัฐบาลปี 2567 ที่ครอบคลุมปี 2567-2580 คาดการณ์ว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซและถ่านหิน จะยังคงเป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศไทย คือร้อยละ 48 ของปริมาณทั้งหมด หนุนเสริมด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ (ร้อยละ 32) พลังน้ำ (ร้อยละ 17) และแหล่งอื่นๆ

การพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลของประเทศไทยนั้น อยู่บนฐานของข้อเท็จจริงที่นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประทศมุ่งเน้นการดำเนินการจัดตั้งเครือข่ายพื้นที่ที่เรียกว่า "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" 15 แห่ง รวมถึงเขตที่เรียกว่า "ระเบียงเศรษฐกิจ" (3) โดยให้หลักประกันว่าผู้ลงทุนในเขตดังกล่าวจะได้รับเงื่อนไขพิเศษ รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษี และสัมปทานระยะยาวที่สุด 99 ปี  คาดกันว่าเขตดังกล่าวจะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

แต่โครงการเหล่านี้จะนําไปสู่การแย่งยึดผืนดินและผืนทะเลมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  อีกทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลก็จะเพิ่มขึ้นด้วยจากการก่อสร้าง การขนส่ง และกิจกรรมทางอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด  ตัวอย่างเช่น ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ที่วางแผนไว้ครอบคลุม 14 จังหวัด  พื้นที่นําร่องจะอยู่ในจังหวัดระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ครอบคลุมพื้นที่รวม 300,000 ไร่ (48,000 เฮกตาร์)  โครงการประกอบด้วยท่าเรือน้ำลึก อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมฐานปิโตรเลียมและการแปรรูปอาหาร  ระเบียงเศรษฐกิจนี้จะทําลายพื้นที่ชายฝั่งและป่าไม้ ขับไล่ชุมชนออกไป และส่งผลกระทบอย่างหนักต่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง  สำหรับบริบท นี่คือภูมิภาคที่ชุมชนจํานวนมากพึ่งพาอาศัยป่าชายเลน และมีพื้นที่ชุ่มน้ำแรมซาร์ (Ramsar site) (4) เพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพตั้งอยู่ด้วย

การค้ากําไรและการฟอกเขียวของบรรษัท

แทนที่จะจัดการกับปัญหาความปั่นป่วนทางสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงและสาเหตุที่แท้จริงของมัน “นโยบายสภาพภูมิอากาศ” ของรัฐบาลไทยกลับเอื้อประโยชน์แก่นักลงทุนระหว่างประเทศและภาคธุรกิจเอกชนที่มีสิทธิพิเศษอยู่แล้วในประเทศ แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในหลายต่อหลายประเทศ  ทั้งยังมอบผลประโยชน์เพิ่มเติมให้แก่บริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อมลพิษอย่างหนัก โดยช่วยให้พวกเขาทำการฟอกเขียวและเบี่ยงเบนความสนใจจากกิจกรรมเชิงการทําลายและการละเมิดหลายอย่างของตน  

ตัวอย่างหนึ่งของการฟอกเขียวและการเบี่ยงเบนความสนใจจากการละเมิดที่บริษัทกระทำไป คือกรณีของบริษัทน้ำมันและก๊าซแห่งชาติ ปตท.  บริษัท ปตท. นําเข้าก๊าซจากเมียนมามาจัดจำหน่ายในประเทศไทย  เงินของบริษัท ที่จ่ายให้แก่รัฐบาลทหารของเมียนมา ได้ช่วยให้กองทัพเมียนมาสามารถทําสงครามนองเลือดกับประชาชนของตนเองต่อไปได้ (5)  การโจมตีทางอากาศของกองทัพเมียนมาได้คร่าชีวิตพลเมืองไปแล้วหลายพันคน และทำให้หลายล้านคนกลายเป็นผู้ลี้ภัย  แต่ว่าการเข้าร่วมโครงการชดเชยคาร์บอน T-VER ฉายภาพลักษณ์ออกมาเป็นบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม  ในปี 2566 ปตท. ประกาศว่าจะทำการ “ปลูกป่า” 2 ล้านไร่ (320,000 เฮกตาร์) ทั่วประเทศภายในปี 2573  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ ปตท. กล่าวอ้างว่าบริษัท “ได้ยึดมั่นในภารกิจการรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน ตลอดจนการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัดในช่วง 45 ปีที่ผ่านมา” (6)

ความอยุติธรรมทางสังคมเพิ่มขึ้นและการต่อต้านเพิ่มขึ้น

ชุมชนในประเทศไทยที่อาศัยอยู่ในป่า พึ่งพาและดูแลป่า ต้องรับมือกับภัยคุกคามที่สําคัญมาอย่างน้อยสองประการ ได้แก่ การที่ดินแดนของตนถูกโจมตีอันเป็นผลมาจากนโยบายเศรษฐกิจที่ทําลายล้าง (รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ) และนโยบายการอนุรักษ์ที่รุนแรงแบบอำนาจนิยมที่พยายามขับไล่พวกเขาออกจากป่ามาตลอด (7)  มาบัดนี้ การเร่งรีบดำเนินโครงการคาร์บอนที่จะเข้ามาควบคุมที่ดินของพวกเขาภายใต้หน้ากากของ “การชดเชย” มลพิษที่ก่อขึ้นที่อื่น คือภัยคุกคามเพิ่มเติมที่พวกเขาจะต้องเผชิญมากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับระเบียงเศรษฐกิจในภาคใต้ของประเทศ ชุมชนได้ทำการประท้วงแผนการนี้มาตลอด พวกเขาได้ส่งหนังสือแสดงความกังวลไปถึงนักลงทุน เนื่องจากเข้าใจดีว่านี่เป็นภัยคุกคามที่แท้จริงต่อการดํารงชีวิตของพวกเขา แต่สําหรับโครงการชดเชยคาร์บอน ชุมชนในประเทศไทยก็เช่นเดียวกับในประเทศอื่น มักจะยอมรับโครงการบนฐานของคํามั่นสัญญาถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับตามที่รัฐบาลและองค์กรพัฒนาเอกชนแจ้งไว้  ในประเทศไทยมี 89 ชุมชนจดทะเบียนพื้นที่ที่เรียกว่า “ป่าชุมชน” 121 แห่งภายใต้โครงการ T-VER รวมถึงชุมชนในภาคใต้ที่พึ่งพาป่าชายเลน  สาเหตุหนึ่งที่ชุมชนยอมรับโครงการเหล่านี้อาจเป็นเพราะโครงการดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำลายอย่างที่เห็นได้ชัดแบบเดียวกับโครงการอื่นๆ เช่น การทําเหมืองแร่ การปลูกสวนต้นไม้ ท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรม

ด้วยเหตุนี้ หลายชุมชนในภาคใต้จึงได้ลงนามในสัญญาระยะยาวถึง 30 ปี เพื่อขายคาร์บอนเครดิต (8)  ตามสัญญาเหล่านี้ ชุมชนจะได้รับร้อยละ 20 ของยอดขายคาร์บอนเครดิต ในขณะที่ร้อยละ 70 จะตกเป็นของผู้พัฒนาโครงการคาร์บอน และร้อยละ 10 เป็นของรัฐบาล  การจะได้รับผลตอบแทนดังกล่าวชุมชนจําเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าคาร์บอนที่ “กักเก็บไว้” ในพื้นที่ป่าชายเลนไม่เพียงแต่จะถูกเก็บไว้ที่นั่นต่อไปเท่านั้น แต่ยังจะเพิ่มขึ้นในช่วงระยะเวลาของโครงการอีกด้วย  อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าเงื่อนไขนี้หมายความว่าอย่างไรในทางปฏิบัติ  ตัวอย่างเช่น สัญญาไม่ได้ระบุถึงข้อจํากัดในการเข้าถึงและการใช้ป่าชายเลนอย่างชัดเจน  สิ่งที่ระบุไว้ในสัญญาคือ โครงการคาร์บอนจะจ่ายค่าตอบแทนแก่คนในชุมชนที่ทํางานให้แก่โครงการ ซึ่งหมายถึงการเฝ้าระวังพื้นที่ป่าชายเลนจากภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น  แต่ภัยคุกคามเหล่านั้นคืออะไรหากชุมชนได้ดูแลป่ามาโดยตลอด

ประสบการณ์จากที่อื่นแสดงให้เห็นว่า “ภัยคุกคาม” ดังกล่าวส่วนใหญ่มักจะมาจากสมาชิกในชุมชนเองที่ต้องการตัดไม้หรือตั้งใจที่จะ “รบกวน” คาร์บอนที่เก็บกักไว้ในป่าชายเลน  โครงการเช่นนี้ยังก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในชุมชนด้วย  ตัวอย่างเช่น ความแตกแยกที่พบทั่วไประหว่างคนส่วนน้อยที่ได้รับประโยขน์บางอย่างจากโครงการ (เช่น การมีงานทำ) กับคนส่วนใหญ่ในชุมชนที่ถูกกันออกไปและยังได้รับผลร้ายต่อการดํารงชีวิตประจําวันของพวกเขา  โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งในกรณีของประเทศไทยมีสูงมาก เพราะมีประวัติศาสตร์ของการที่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าถูกละเลย ถูกข่มเหงและถูกมองว่าไม่มีสิทธิใดๆในที่ดิน  ด้วยเหตุที่สิทธิของผู้ที่อาศัยอยู่ในป่าถูกละเลยมาตลอด “ผู้ทรงสิทธิ” รายใหม่ของคาร์บอนในป่าส่วนใหญ่ (บริษัทที่ส่งเสริมและซื้อคาร์บอนเครดิต) จึงมักจะไม่แจ้งข้อมูลให้ชุมชนทราบเกี่ยวกับโครงการของพวกเขา ส่วนการขอความยินยอมนั้นไม่ต้องเอ่ยถึง

แต่บัดนี้ชุมขนและขบวนการประชาชนทั่วประเทศ ได้เริ่มมีการพูดคุยกันมากขึ้น และพยายามทําความเข้าใจให้ดีชึ้นว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลังของ “นโยบายสภาพภูมิอากาศ” ของรัฐบาล  พวกเขาคุยกันถึงแนวโน้มที่โครงการชดเชยคาร์บอนจะทําให้ความปั่นป่วนทางสภาพภูมิอากาศเลวร้ายลง พร้อมกับกระตุ้นให้เกิดความอยุติธรรมทางสังคมมากยิ่งขึ้น แทนที่จะเป็นในทางตรงกันข้าม (9)

การต่อสู้ของพวกเขาจะช่วยให้เราสามารถจัดการกับสภาวะวิกฤตเชิงซ้อนที่ประเทศไทยกําลังเผชิญอยู่ได้ โดยการชี้ทางให้เราเดินไปในทิศทางใหม่ นั่นคือ แทนที่จะส่งเสริมโครงการชดเชยคาร์บอนที่ก่อผลกำไรให้แก่บรรษัทที่อยู่บนฐานของการสะกัดและเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล ให้หันไปส่งเสริมและรับรองสิทธิของชุมชนที่พึ่งพาป่าไม้ ดังเช่นชุมชนในป่าชายเลนทางตอนใต้ของประเทศไทยผู้ที่ได้ดูแลป่าเหล่านี้มาเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน  การสนับสนุนการต่อสู้และข้อเรียกร้องของพวกเขา สามารถจะสร้างเสริมการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมและทางสภาพภูมิอากาศในประเทศได้

สํานักเลขาธิการนานาชาติ WRM โดยมีข้อมูลจาก สุรินทร์ อ้นพรหม (นักวิจัยอิสระ) และ บัณฑิตา อย่างดี (ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา)

(1) https://www.wrm.org.uy/15-years-of-redd-is-all-carbon-the-same
(2) https://www.krungsri.com/en/research/industry/industry-outlook/agriculture/palm-oil/io/plam-oil-industry-2024-2026
(3) https://www.thailand.go.th/issue-focus-detail/006-023
(4) พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ  ดู www.ramsar.org
(5) https://globalmayday.net/bloodmoneymyanmar/
(6) https://www.nationthailand.com/business/corporate/40030072
(7) https://www.wrm.org.uy/bulletin-articles/forest-colonialism-in-thailand
(8) https://dialogue.earth/en/nature/thailand-turns-to-mangrove-carbon-credits-despite-scepticism/
(9) Tเครือข่ายประชาชนเสริมสร้างความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศและต่อต้านการฟอกเขียว  หยุดการฟอกเขียว ปฏิเสธการชดเชยคาร์บอน ยุติการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่จอมปลอม 14 ตุลาคม 2567 See here.