(Thai) กฎหมาย อาชญากรรม และการตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่ชนบทของไทย

Image
ชาวบ้านที่ถูกฟ้องดำเนินคดีบุกรุกอุทยานแห่งชาติไทรทอง จังหวัดชัยภูมิ ศาลพิพาษาจำคุกและจ่ายค่าเสียหายแก่รัฐ ที่มา: https://prachatai.com/journal/2019/06/83033

อาชญากรรมป่าไม้ มีนิยามอย่างไร ? ในประเทศไทย ในขณะที่รัฐบาลและบริษัทต่างๆ ตัดไม้ทำลายป่าไปเป็นจำนวนมหาศาล ชาวบ้านกลับต้องกลายเป็นแพะรับบาปต่อการทำลายล้างดังกล่าว นโยบายอนุรักษ์ของรัฐบาลมุ่งเน้นไปที่การใช้กฎหมายกับประชาชนที่อยู่ในป่า ด้วยการใช้ความรุนแรงและการก่ออาชญกรรมต่อพวกเขา

อาชญากรรมป่าไม้ มีนิยามอย่างไร ? และใครเป็นคนกระทำ ? กรณีที่จะกล่าวต่อไปนี้ สะท้อนให้เห็นภาพบางส่วนของการที่กฎหมายถูกนำมาใช้กับชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่าของไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และอะไรคือผลที่ตามมา

แก่งกระจาน

ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในภาคตะวันตกของประเทศไทย เจ้าหน้าที่รัฐได้เผาทำลายบ้านเรือน ยึด และทำลายข้าวของของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ชุมชนเรียกร้องให้ได้รับอนุญาตกลับสู่พื้นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของพวกเขา หลังสภาพความเป็นอยู่ในหมู่บ้านใหม่ที่ถูกอพยพไปเป็นไปอย่างลำบากยากแค้น

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นป่าผืนใหญ่ระหว่างเขตแดนประเทศพม่า และเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงมานานนับเป็นร้อยปี ในปี 2554 รัฐบาลไทยเสนอให้พื้นที่ป่าแก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ (UNESCO World Heritage Nature Site) แม้ว่าจะไม่เคยได้รับอนุมัติก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2554 เป้นต้นมา การข่มขู่ คุกคาม และละเมิดสิทธิของกะเหรี่ยงของผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จนเกิดปฎิบัติการเข้าผลักดันชาวกะเหรี่ยง 98 ครอบครัว ออกจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

นายโคอิ มีมิ หรือ ปู่คออี้ มีมิ อายุ 100 ปี หนึ่งในชาวกะเหรี่ยงที่ถูกอพยพและได้เห็นบ้านตัวเองถูกเผา ในปี 2555 ได้กล่าวต่อศาลปกครองในคดีที่เขาเป็นหนึ่งในโจทย์ผู้ฟ้องร้องว่า “ฉันลืมตามา ป่าก็อยู่ตรงนั้น ในพื้นที่ ๆ ฉันได้ดื่มน้ำนมหยดแรก” ปู่คออี้เกิดในปี 2454 คือ 30 ปี ก่อนหน้าที่จะมีกฎหมายป่าไม้ของประเทศไทยฉบับแรก และ 50 ปีก่อนจะมีกฎหมายอุทยานแห่งชาติ

พอละจี รักจงเจริญ (“บิลลี่”) หลานชายของปู่คออี้ ผู้ที่ได้ออกมาต่อสู้เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน ได้ถูกอุ้มหายตัวไป ในปี 2557 อีก 5 ปีต่อมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ พบชิ้นส่วนกระดูกในถังน้ำมันจมอยู่ใต้น้ำในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ผลการตรวจ DNA พบว่าตรงกับมารดาของนายพอละจี

ชัยภูมิ

ในปี 2559 นายเด่น คำแหล่ ผู้นำการต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินจากชุมชนโคกยาว ในจังหวัดชัยภูมิ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็หายตัวไปอย่างลึกลับเช่นกัน ซึ่งต่อมาพบชิ้นส่วนกระดูกจากกระโหลกศีรษะมนุษย์ในป่า จากการตรวจพิสูจน์ DNA พบว่า ตรงกับสมาชิกในครอบครัวของนายเด่น

นายเด่นมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวต่อสู้ที่ยาวนาน ซึ่งขยายตัวไปทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อต่อต้านการประกาศป่าสงวนแห่งชาติทับบนที่ดินของเกษตรกรรายย่อยที่ถือครองทำกินมานาน และต่อต้านการยึดพื้นที่ปลูกไม้ยูคาลิปตัสในเชิงอุตสาหกรรม ภรรยาของเขา นางสุภาพ คำแหล่ ถูกจำคุกในข้อหาสนับสนุนการปกป้องที่ดินของชุมชนโคกยาวภายใต้ข้อกล่าวหา “บุกรุกพื้นที่ป่าของรัฐ”

การขับไล่และการจำคุก

ในปี 2557 เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้ายึดอำนาจในประเทศไทย ได้อาศัยอำนาจตามกฎหมาย

[caption id="attachment_22632" align="alignright" width="300"] โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ยุทธการทวงคืนผืนป่า[/caption]

รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ออกคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 ซึ่งให้อำนาจแก่ทหารในการยึดที่ดินในพื้นที่ป่า และ ดำเนินคดีกับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติมีแต่ชาวบ้านยากจนที่ถูกยึดที่ดิน ต้องเผชิญกับข้อหาทั้ง ทางอาญาและทางแพ่ง

เพียงหนึ่งปีหลังจากออกคำสั่งคสช. ที่ 64/2557 ประชาชนทั่ว ประเทศได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เนื่องจากมีการใช้คำสั่งขับไล่ชาวบ้านในพื้นที่ป่าของทางการ มี การยึดที่ดิน และทำลายพืชผลอาสิน โดยไม่มีการตรวจสอบ ข้อเท็จจริง

ระหว่างปี 2557 – 2562 มีการฟ้องร้องชาวบ้านจำนวนราว 46,600 คดีในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่า ตัวอย่างเช่นที่ จังหวัดชัยภูมิโดยการบังคับใช้กฎหมายอุทยานแห่งชาติชาวบ้านถูกจำคุก ถูกขับไล่ออกจากที่ดิน และถูกฟ้องเรียก ค่าเสียหายที่มีแก่อุทยานแห่งชาต

การฟ้องร้องคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่ง ไม่เพียงแต่ในที่ดินป่าไม้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงที่ดินของรัฐอื่นๆ ด้วย เช่นเดียวกับคดีประมาณ 410 คดีของเครือข่ายขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-MOVE มีที่ดินที่ ชาวบ้านอาศัยอยู่ได้ถูกยึด ถูกตัดสินจำคุก และเรียกค่าเสียหายทางแพ่งในข้อหาทำลายทรัพยากรธรรมชาติ จากรายงานขององค์กรจับตาด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Watch) ระหว่างปี 2559-2561 คณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับเรื่องร้องเรียน การกล่าวหาทรมานมากกว่า 100 ครั้ง จากจังหวัดปัตตานียะลา และ นราธิวาส ที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึกร่วมกับพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ ฉุกเฉิน เพื่อกักขังและสอบปากคำประชาชนได้นานถึง 37 วัน โดยไม่แจ้งข้อหาหรือเข้าไม่ถึงที่ปรึกษาทางกฎหมาย (1)

และแม้ว่าคสช. จะถูกยุบอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม 2562 เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ารับตำแหน่ง แต่รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันของไทยก็ปกป้องสมาชิกคสช. และผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของตนไม่ให้ต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิ มนุษยชนที่เกิดขึ้นในระหว่างการปกครองของทหาร ซึ่งมีหลายคนวิจารณ์ว่า คสช. ยังคงอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจ อยู่มาก

ยางพารา ต้นไม้อาชญากร

สวนยางพาราในพื้นที่ป่าของรัฐถูกประกาศว่าผิดกฎหมายตาม นโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่มีแต่สวน
ยางพาราขนาดเล็กของชาวบ้านที่ถูกมุ่งเป้าโดยเฉพาะ

[caption id="attachment_22631" align="aligncenter" width="600"] ปฎิบัติการตัดฟันต้นยางพาราของชาวบ้านโดยเจ้าหน้าที่รัฐ[/caption]

เจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือนได้ตัดฟันต้นยางพาราของชาวบ้านและบังคับให้พวกเขาลงนามในข้อตกลงให้คืนที่ดินที่ พวกเขาใช้เพาะปลูกอยู่ให้กับรัฐ ไม่เช่นนั้นจะต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย เจ้าหน้าที่ของรัฐให้เหตุผลต่อการตัดฟันต้นยางพารา และรวมถึงการข่มขู่ชาวบ้านในพื้นที่ชนบทที่ถูกกำหนดให้เป็น เป้าหมายเหล่านั้นว่าพวกเขาเป็นนายทุนหรือมีกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่หนุนหลัง

ชาวบ้านเป็นแพะรับบาป

ในประเทศไทยมีการให้สัมปทานการตัดไม้แก่บริษัทของอังกฤษมานานก่อนการก่อตั้งกรมป่าไม้ในปี 2439 การให้สัมปทานไม้สักยังคงให้แก่บริษัทของอังกฤษจนถึงประมาณปี 2497 สัมปทานของบริษัทจากต่างประเทศสิ้นสุดลง พร้อมกับการหมดไปของทรัพยากรไม้สักส่วนใหญ่ของประเทศ จากนั้นวิสาหกิจ (ที่เป็นเจ้าของ หรือถูกควบคุมกำกับทั้งหมดหรือบางส่วนโดยรัฐบาล) เริ่มดำเนินการสัมปทานทำไม้กระยาเลย ระหว่างปี 2504 – 2528 พื้นที่ป่าไม้ของประเทศลดลงจากร้อยละ 53 เป็น ร้อยละ 28 ของพื้นที่ทั้งประเทศ ระหว่างปี 2524 - 2528 อัตราการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก โดยการดำเนินการทำไม้ของรัฐ มีบทบาทสำคัญในการทำลายป่าไม้

ในปี 2531 การสัมปทานทำไม้ถูกยกเลิกในประเทศไทย อันเป็นผลมาจากความพยายามของชุมชนในชนบทในการปกป้องป่าร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมหลังจากภัยพิบัติน้ำท่วมทางภาคใต้ของประเทศ แต่ถึงแม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรในสมัยนั้นได้สั่งยกเลิกสัมปทาน โดยได้รับเสียงชื่นชมจากสาธารณชนอย่างกว้างขวาง แต่การเสียสละของชาวบ้านที่ผลักดันให้มีการปกป้องผืนป่ากลับถูกมองข้ามไป ยิ่งไปกว่านั้น ชาวบ้านกลับกลายเป็นแพะรับบาปทำลายป่า แทนรัฐและบริษัททำไม้ เมื่อการอนุรักษ์ป่ามุ่งเน้นไปที่การใช้กฎหมายกับชาวบ้านในชนบท

กฎหมายป่าไม้ เพื่อใคร ?

ในช่วงต้นปี 2561 การก่อสร้างโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการของรัฐบาลไทยเชิงดอยสุเทพในจังหวัดเชียงใหม่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากสาธารณชนว่าเป็นตัวทำลายพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ แต่เดิมที่ดินดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของกองทัพ ดังนั้นจึงไม่ได้ถูกประกาศเป็นพื้นที่ป่าตามกฎหมาย แต่การที่พื้นที่อยู่ใกล้กับอุทยานแห่งชาติ จึงถูกวิจารณ์ว่าเป็นการบุกรุกป่า

สำหรับผู้ประท้วงในพื้นที่ การดำเนินการสองมาตรฐานที่เกิดขึ้นนั้นชัดเจน รัฐบาลยึดที่ดินและป่าชุมชนของชาวบ้านธรรมดาอย่างต่อเนื่องโดยอ้างความเป็น "นักอนุรักษ์" ทั้ง ๆ ที่ตัวเองคือผู้กระทำความผิดฐานทำลายป่าเป็นหลัก ในช่วงกลางปี ​​2561 รัฐบาลถูกกดดันให้ระงับโครงการบ้านพักดังกล่าว และดำเนินการปลูกป่าทดแทนในพื้นที่

ประวัติศาสตร์ยังดำเนินต่อไป

ความพยายามของรัฐบาลไทยในการบังคับประชาชนออกจากที่ดินเกิดขึ้นมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ปฎิบัติการที่ละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างรุนแรง มักเกิดขึ้นในรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ตัวอย่างเช่น การรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในปี 2559 รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารได้มีการดำเนินโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (โครงการ คจก.) ในทำนองเดียวกัน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งกำลังอยู่ภายใต้วงล้อมการประท้วงของนักศึกษา แม้ว่าจะไม่ได้มีอำนาจอย่างเป็นทางการ แต่ก็อาศัยการใช้กำลังทหารและรัฐในการดำเนินนโยบายทวงคืนผืนป่าผ่านกระบวนการศาลกับชาวบ้านอย่างไม่เป็นธรรม

การดำเนินนโยบายป่าไม้ในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะอาศัยตัวเลขที่ไม่มีแหล่งที่มา ซึ่งอ้างว่าประเทศ “ต้อง” มีป่าไม้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ หรือประมาณ 128 ล้านไร่ ปัจจุบันมีพื้นที่ราว 42 เปอร์เซ็นต์ ถูกจัดให้เป็นพื้นที่ดินป่าไม้ตามกฎหมาย แม้ว่าส่วนใหญ่จะมีต้นไม้เพียงเล็กน้อย นั่นทำให้ผู้อยู่อาศัยในประเทศอย่างน้อย 1.9 ล้านคน หรือประมาณ 636,000 ครัวเรือน และชุมชนที่ไม่อาจระบุจำนวนกลายเป็นผู้ละเมิดกฎหมายอย่างเป็นทางการ และสามารถถูกละเมิดสิทธิทางกฎหมายได้ โดยไม่อาจเข้าถึงความช่วยเหลือได้มากนัก

การจับกุมคุมขังและการแย่งยึดที่ดินจะยังคงเกิดขึ้นต่อไปอย่างแน่นอน

พรพนา ก๊วยเจริญ (2)
Land Watch Thai (3)

(1) Human Rights Watch, Thailand 2019.

(2) ผู้เขียนเป็นนักกิจกรรมทางสังคม ในประเทศไทย ที่มีประสบการณ์การทำงานในประเด็นป่าไม้ และที่ดินมายาวนาน ปัจจุบันเป็นผู้ประสานงานองค์กร Land Watch Thai

(3) Land Watch Thai เป็นองค์กรขนาดเล็กที่ทำงานเกี่ยวกับปัญหาที่ดินในประเทศไทย ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับนโยบาย